เรื่องวุ่นๆของหนูน้อยวัยกำลังซน ตอน การสำลัก

Last updated: 11 มี.ค. 2567  | 

เรื่องวุ่นๆของหนูน้อยวัยกำลังซน ตอน การสำลัก

                    เมื่อถึงวัยของหนูน้อยกำลังซน คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะต้องพบกับปัญหาหนึ่งที่เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมากที่สุด นั่นก็คือ การหยิบสิ่งของที่อยู่ใกล้มือมาเข้าปากหรือจมูก จนอาจทำให้มีสิ่งของขนาดเล็กหลุดรอดเข้าในร่างกาย รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีขนาดใหญ่เกินไป หรือการเคี้ยวไม่ละเอียด เพราะเด็กที่มีอายุ 6 เดือน – 3 ปี ฟันกรามจะยังงอกได้ไม่เต็มที่ แถมเด็กวัยนี้ยังเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง เห็นอะไรก็น่าสนใจไปซะหมด

                    ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะคอยระวังเรื่องการนำเอาอะไรก็ตามเข้าปากเข้าจมูกของลูกอยู่สม่ำเสมอ แต่ก็คงจะเกิดการพลาดสักครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทันสังเกต หรือไม่ทันระวัง กว่าจะตามทันความไวของลูกน้อยก็อาจจะช้าไปเสียแล้ว เมื่อลูกน้อยได้นำสิ่งของแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ถึงแม้จะเป็นสิ่งของที่เล็ก แต่ด้วยพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ยังไม่เต็มที่ ทำให้ลูกน้อยเกิดการสำลักได้ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่การสำลักสิ่งของหรืออาหารเท่านั้น ยังมีการสำลักน้ำลายที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กวัยนี้

 

วิธีป้องกันอาการสำลัก

1. คุณพ่อคุณแม่ ห้ามนำอาหารที่มีเมล็ดเล็กๆ ก้าง หรือเปลือกมาให้ลูกทานเด็ดขาด เพราะเด็กในวัยนี้ยังเล็กเกินไปที่จะหยิบ หรือคายสิ่งแปลกปลอมออกมาได้เอง

2. การจัดข้าวของภายในบ้านก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง เพราะ เด็กจะชอบหยิบอะไรก็ตามที่อยู่ใกล้มือมาเข้าปาก และยิ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ยิ่งเสี่ยงต่อการกลืน และอาจทำให้ไปอุดทางเดินหายใจได้

3. บางเวลาที่ลูกน้อยชอบลงไปนอนกลิ้งเล่นพร้อมกับการทานอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ ต้องมีวิธีการให้ลูกน้อยนั่งทานเป็นที่เป็นทาง เช่น หาเก้าอี้ตัวโปรดที่มาพร้อมกับถ้วยชามที่ลูกชอบ เพื่อดึงความสนใจให้ลูกอยากใช้ และอยู่ให้ติดที่ตอนรับประทานอาหาร

4. คุณพ่อคุณแม่ ต้องเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกวิธี เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัยจากเหตุการณ์นั้นได้

                    แล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยสำลัก? สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น คือ การมีสติ เพื่อรับมือและช่วยเหลือลูกน้อยได้ทันท่วงที โดยมีวิธีการ ดังนี้

  1. การตบหลังแบบสวนขึ้น โดยยืนหรือคุกเข่าข้างหลังลูก ใช้มือข้างหนึ่งประคองหน้าอกลูก ให้ลูกโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ใช้ส้นมือตบหลังแบบสวนขึ้นกระแทกแรงๆ บริเวณกลางหลัง 5 ครั้งติดต่อกัน
  2. การรัดกระตุกหน้าท้อง โดยยืนหรือคุกเข่าข้างหลังลูก ใช้แขนสองข้างโอบรอบเอวลูก มือข้างหนึ่งกำเป็นกำปั้นและใช้นิ้วโป้งกดบริเวณเหนือสะดือ ใต้กระดูกลิ้นปี่ เอามืออีกข้างวางทับกำปั้น แล้วออกแรงกดมือทั้งสองเข้าไปในท้องและดันขึ้นด้านบน
  3. หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบเรียก รถฉุกเฉินที่เบอร์ 1669

 

 

อ้างอิง

  1. BestReviewAsia. (2020) วิธีช่วยเหลือ เด็กสำลัก, สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2564.
  2. รักลูก. แค่ลูกสำลักอาหาร เสี่ยงต่อโรคสมองตายจริงเหรอ?, สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2564.
  3. TheAsianParent. ลูกสำลักอาหาร ปฐมพยาบาลอย่างไร ป้อนอาหารเด็กเล็ก ต้องระวัง! อาหารอันตราย, สืบค้นเมื่อ 14 มิถุนายน 2564.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้