5 ความเสี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์

Last updated: 11 มี.ค. 2567  | 

5 ความเสี่ยงของคุณแม่ตั้งครรภ์

                    คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ อาจเกิดความเครียด ความกังวล และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ มารู้จักและป้องกันให้เหมาะสม เพราะสุขภาพดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาที่จะมี โดยเฉพาะคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ
          1. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
                    อาการ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการบ่งบอกของโรค จะทราบก็ต่อเมื่อเข้ามารับการตรวจคัดกรอง โดยสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยง และกำหนดเวลาที่ควรตรวจคัดกรองเบาหวาน
                    สาเหตุ ขณะตั้งครรภ์มีการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด ซึ่งเข้าไปในร่างกายคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นเหตุให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนกลายเป็นเบาหวานได้ แต่หลังคลอดระดับน้ำตาลในเลือดคุณแม่จะกลับสู่สภาวะปกติ
                    การป้องกัน ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องรีบไปฝากครรภ์ หากตรวจพบจะได้รักษาและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อน ควรเข้ารับการตรวจวัดน้ำตาลในเลือด เพื่อดูว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (GDM) หรือไม่ เมื่อพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรได้รับการดูแลจากสูตินรีแพทย์อย่างจริงจัง
          2. การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
                    อาการ ปัสสาวะกะปริดกะปรอย รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ อาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย ปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็น สีหมักใส แต่บางรายอาจขุ่นหรือมีเลือดปน
                    สาเหตุ จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ระบบทางเดินปัสสาวะจะทำงานมากขึ้น ท่อไตจะเกิดการยืดขยายและเคลื่อนไหวได้ช้าลงกว่าเดิม กระเพาะปัสสาวะจะมีความจุน้อยลงจากการกดเบียดของมดลูกไปดันกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะทำงานได้ไม่ดี จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
                    การป้องกัน พยายามดื่มน้ำมากๆ และอย่าอั้นปัสสาวะ เพราะจะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะแพร่พันธุ์ได้ และหลังถ่ายอุจจาระควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลัง เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ท่อปัสสาวะ รวมทั้งการดูแลความสะอาดของกางเกงชั้นใน ไม่ควรรัดแน่น ระบายอากาศได้ดี
          3. โรคความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
                    อาการ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปให้แพทย์ตรวจรักษา ส่วนน้อยอาจมีอาการมึนท้ายทอย เวียนศีรษะ หรือหากเป็นมากอาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัวหรือมีเลือดกำเดาไหล
                    สาเหตุ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จะพบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุน้อยหรืออายุมาก และมักพบในการตั้งครรภ์แรก นอกจากนั้นสามารถพบได้ในการตั้งครรภ์แฝด หรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวที่แม่เคยเป็นโรคนี้ขณะตั้งครรภ์
                    การป้องกัน เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์และปรึกษาแพทย์ เพื่อให้สามารถตรวจพบตั้งแต่แรกและให้การรักษาได้ทันท่วงที
          4. โรคหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defects)
                    อาการ เป็นความพิการของทารกในครรภ์ตั้งแต่กำเนิดที่พบได้บ่อย สามารถนำไปสู่ความพิการทางร่างกายที่รุนแรงจนเสียชีวิตได้ เกิดจากหลอดประสาทเชื่อมปิดไม่สมบูรณ์ในครรภ์มารดา ช่วงระหว่างที่ตัวอ่อนมีอายุได้ 23-28 วันหลังปฏิสนธิ ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป
                    สาเหตุ เกิดจากทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม เช่น ภาวะขาดวิตามินโฟลิกในคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้รับยาหรือสารเคมีระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ยากันชัก มารดาเป็นเบาหวาน
                    การป้องกัน ภาวะหลอดประสาทไม่ปิดมีโอกาสเกิดซ้ำในบุตรคนถัดไป การป้องกันทำได้โดยให้คุณแม่ตั้งครรภ์กินวิตามินโฟลิก 400 ไมโครกรัม อย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หรือหญิงที่เคยมีบุตรเป็นโรคประสาทไม่ปิด ป้องกันการเกิดซ้ำโดยกินวิตามินโฟลิก 4000 ไมโครกรัม อย่างน้อย 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
          5. ภาวะซึมเศร้าในคุณแม่ตั้งครรภ์
                    อาการ มีอาการที่หลากหลาย ที่สำคัญ คือ รู้สึกซึมเศร้าหดหู่ สะเทือนใจและร้องไห้ง่าย บางครั้งรู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งต่างๆ และจิตใจไม่สดชื่นเหมือนเดิม และมักมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย
                    สาเหตุ เกิดจากความเครียดหรือความกดดันในชีวิตจากหลายสาเหตุ อาทิ ขาดการดูแลเอาใจใส่จากคนใกล้ชิด มีปัญหาหรือความรุนแรงในครอบครัว มีโรคหรือภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เคยมีประวัติแท้งบุตรมาก่อน ตั้งครรภ์ในช่วงที่ไม่พร้อม ทำให้คิดหรือตัดสินใจได้ยากลำบากขึ้น และบางครั้งอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่และทารกในครรภ์ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดตามมาด้วย
                    การป้องกัน เป็นอาการธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่คนที่อารมณ์ดีเสมอ ถ้ามีอาการควรทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น การเดินออกกำลังกาย ทำสมาธิ การพูดคุยปรึกษาสิ่งที่กังวลใจกับคนรัก ครอบครัว และเพื่อนสนิท จะช่วยให้สามารถจัดการกับภาวะอารมณ์แปรปรวนและเปิดโอกาสให้คนอื่นได้รับรู้และเข้าใจความรู้สึกที่เปลี่ยนไปได้ดีขึ้น

                    เมื่อคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์รู้จักถึงโรคที่อาจเกิดขึ้นแล้ว เรามาห่างไกลโรคด้วยการเลือกรับประทานของที่มีประโยชน์ต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ การรับประทานงาดำ จะช่วยเสริมสร้างแคลเซียม บำรุงกระดูกและฟัน อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ การรับประทานน้ำขิงจะช่วยให้ท้องไม่ผูก และควบคุมระดับโคเลสเตอรอล ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลในขณะตั้งครรภ์ และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อย และสำหรับคุณแม่ที่เป็นเบาหวาน หรือต้องการควบคุมน้ำตาล ควรเลือกทานอาหารที่มีน้ำตาลน้อย หรือไม่ผสมน้ำตาล เพื่อป้องกันความเสี่ยงนะคะ
 
  สนใจสั่งซื้อสินค้า คลิกเลย

 
อ้างอิง
Patcharee Bonkham. (2017) กลุ่มโรคที่ต้องระวังสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์, สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2564.
Sanook. (2021) 8 โรคและภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ที่คุณแม่ต้องระวัง, สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2564.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้